ผีเป็นสิ่งต้องห้ามในวงการภาพยนตร์ของจีนจริงหรือ

17/12/2018 Admin

ประเด็นที่ว่า “ผีมีจริงหรือไม่ ?” ได้รับการหยิบยกมาถกเถียงมากมายในหลายระดับ ทั้งในเชิงวิชาการหรือหัวข้อคุยเล่นทั่วไปในกลุ่มเพื่อน โดยคำตอบที่ดูเหมือนจะสรุปอย่างเป็นกลางที่สุดก็คงจะเป็น

“ถ้าเชื่อก็มี ถ้าไม่เชื่อก็ไม่มี”

หรือไม่ก็ประโยคยอดฮิต

“ไม่เชื่อ ก็อย่าลบหลู่”

บทความนี้จะนำเสนอสภาพสังคมที่ “ไม่เชื่อ” ในเรื่องผี หรือความเชื่องมงายอื่น ๆอย่างประเทศจีน

ทุกท่านพอจะทราบหรือไม่ว่าทางการจีนมีนโยบายที่ละเอียดเข้มงวดมากต่อการนำความเชื่อเกี่ยวกับสิ่งลี้ลับและเรื่องงมงายต่าง ๆ ออกมาเผยแพร่ในสื่อสาธารณะตั้งแต่พรรคคอมมิวนิสต์เริ่มปกครองประเทศจีน

จนในยุคสิบปีหลังมานี้ที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ในจีนจึงเกิดกระแสการเสพหนังผีจากชาติตะวันตกหรือแม้กระทั่งจากไทยเราเอง ทำให้มีการพยายามสร้างหนังผีออกมาด้วยความต้องการของตลาดในจีน โดยสุดท้ายหนังที่ผลิตออกมาเหล่านั้นก็ถูกส่งกลับไปปรับเนื้อหาใหม่ ให้เปลี่ยนจากผีในหนังให้กลายเป็นปีศาจหรือคนโรคจิตแทน หรือคงความเป็นหนังผีไว้แต่ห้ามเผยให้เห็นรูปร่างของตัวผี และห้ามพูดคำว่าผี เป็นต้น

ก็คือไม่ให้มีผีในหนังผี !

 

 

การพยายามทำหนังผีจึงเป็นเรื่องที่ยุ่งยากในจีน ผู้กำกับยุคหลังจึงหลีกเลี่ยงการผลักดันหนังผี เพราะอาจเสียทั้งเงินทั้งเวลา โดยไม่ได้นำเสนอในสิ่งที่ต้องการจริง ๆ

เหตุผลง่าย ๆ ที่รัฐบาลจีนไม่อยากให้มีหนังผี ก็เพื่อป้องกันความเชื่องมงายไร้เหตุผลไม่ให้แพร่หลายในหมู่ประชาชน นอกจากภาพยนต์แล้วก็ยังมีสื่ออื่น ๆ ที่ต้องถูกควบคุมอย่างเข้มข้น เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และอื่น ๆ

ซึ่งก็ได้ผล เพราะคนจีนรุ่นใหม่ ๆ โดยมากจะไม่เชื่อในเรื่องงมงาย หากลองไปถามพวกเขาว่ากลัวผีไหม เขาก็มักจะตอบแบบไม่มีความรู้เท่าไหร่ เช่น ผีมีจริงเหรอ? หรือบางคนก็ไม่เชื่อในเรื่องผีเสียด้วยซ้ำ ซึ่งก็จะมีบ้างที่บอกว่ากลัวความมืด

แต่หากจะพูดว่า คนจีนไม่เชื่อในความเชื่อใด ๆ ที่สืบทอดมาจากอดีตเลย ก็คงจะดูด่วนสรุปเกินไป เพราะที่จีนยังคงเชื่อในศาสตร์ว่าด้วยฮวงจุ้ย โชคลาง การเปลี่ยนชื่อให้เป็นมงคลทำให้ได้รับความเคารพ ลาภยศ และเงินทอง หรือแม้แต่ตำนานนางพญางูขาว/งูเขียว ที่ถูกหยิบมาเล่าผ่านสื่อไดอย่างเปิดเผย ทว่าเรื่องเหล่านี้ดูเหมือนจะถูกอธิบายผ่านสื่อในเชิงเหตุผลของแต่ละศาสตร์และวัฒนธรรมเสียมากกว่า ไม่ใช่เรื่องที่ต้องนำมาบูชากราบไหว้แต่อย่างใด จะมีบางครั้งบางคราวที่มีข่าวเกี่ยวกับหมอดูหรือร่างทรงต่าง ๆ สุดท้ายก็ถูกเปิดโปงว่าเป็นเพียงขบวนการมิจฉาชีพก็เท่านั้น ว่าง่าย ๆ คือเรื่องราวความเชื่อต่าง ๆ ที่ดูผิดเหตุผลความเป็นจริงเกินไปนั้นล้วนถูกพิสูจน์โดยวิทยาศาสตร์และกระบวนการสืบสวนทั้งสิ้น

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ยังมีเรื่องของความแตกต่างในแต่ละพื้นที่ที่ส่งผลต่อค่านิยมความเชื่อในจีนอีกอยู่ดี

ซึ่งก็อย่างที่ทุกท่านรู้กันว่าเกาะฮ่องกงนั้นไม่ได้ถูกปกครองโดยรัฐบาลจีนมาอย่างต่อเนื่อง ฮ่องกงจึงยังคงเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยหนังผี ความเชื่อเรื่องผี ฮวงจุ้ย และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อย่างผสมผสานกัน ตัวอย่างเช่นหนังผีกองกอยกระโดดเหยง ๆ ที่ทุกท่านคงจะเข้าใจว่ามันคือผีจีน และตั้งคำถามอยู่ขณะที่อ่านบทความนี้ในตอนต้น เพราะนักแสดงในหนังนั้นพูดภาษาจีน แถมยังมีตัวอักษรจีนประกอบอยู่ในหนัง เรียกได้ว่าท่านได้รับ soft power ความเป็นจีนที่ไม่ใช่จีนมาเต็ม ๆ

ด้วยเหตุที่เกาะฮ่องกงยังมีการเสพสื่อความเชื่องมงายอย่างแพร่หลายนี้ ประเทศจีนทางตอนใต้บริเวณใกล้กับเกาะฮ่องกง เช่น กว่างตง หรือเซินเจิ้น เป็นต้น จึงมีความเชื่องมงายเกี่ยวกับผีและสิ่งศักดิ์สิทธิ์แพร่หลายอยู่พอสมควร

เมื่อผู้คนมีความเชื่อ ก็ย่อมมีการขายความเชื่อ เปิดโอกาสให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์จากไทยถูกนำเข้าไปขายในจีนอย่างลื่นไหล ชาวจีนเริ่มนิยมซื้อขายเช่าองค์พระทรงเครื่อง และเครื่องรางสิ่งศักดิ์สิทธิ์มากมาย แม้กระทั่งการเลี้ยง “กุมารทอง” ยังเป็นที่ได้รับความสนใจในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในจีนเสียด้วยซ้ำ เพื่อนคนจีนของตัวผู้เขียนเองยังเลี้ยงเลย บางคนบินมาที่ไทยเพื่อมาบูชาพระพรหมเอราวัณ หรือเข้าไปหาสำนักร่างทรงต่าง ๆ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่เป็นรสนิยมที่แพร่กระจายมาจากฮ่องกงนั่นแหละ

เมื่อมองในภาพรวม ความเชื่องมงายของคนจีนดูจะไม่ได้ใส่ใจกับความเกรงกลัวต่ออำนาจสิงลี้ลับหรือเรื่องผี ๆ ซะทีเดียว แต่มันดูเป็นความต้องการทำทุกวิถีทางเพื่อรีดทรัพย์สิน ลาภยศ จากทุกสรรพสิ่งเท่าที่จะทำได้ มิติความเชื่องมงายในจีนจึงเป็นไปในทางค้าขายแลกเปลี่ยนที่จับต้องได้เท่านั้น

ในยุคที่โลกเปิดกว้างอย่างพ.ศ.นี้ ทางการจีนก็คงยากที่จะกีดกันสื่อภาพยนต์สยองขวัญจากทั่วทุกมุมโลกได้อย่างเต็มที่ แต่ถึงอย่างไรทางการจีนเองก็ยังคงไม่เลือกที่จะกลายมาเป็นผู้นำเสนอผลิตสื่อเหล่านี้อยู่ดี ถึงแม้จะรู้ว่ามันจะทำเงินในตลาดได้มากขนาดไหนก็ตาม

ประเด็นนี้ทำให้เราเห็นว่าสื่อนั้นมีอิทธิพลต่อความเชื่ออย่างแท้จริง ในพื้นที่ที่สื่อนำเสนอเรื่องงมงายน้อย ความเชื่องมงายก็จะน้อย ในที่ที่นำเสนอเรื่องงมงายมาก ความเชื่องมงายก็จะมากตามไปด้วย

ซึ่งหากลองมองย้อนกลับมาที่ไทย มีการทำนายดวงเป็นเรื่องปกติ รวมถึงการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์สารพัด ไม่เว้นแม้กระทั่งสัตว์พิการ ตุ๊กแกสองหัว หรือเจลลดไข้ ก็สามารถบอกได้เลยว่าสื่อในประเทศไทยนำเสนอสิ่งงมงายไว้อย่างไรบ้าง โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้ลอตเตอรี่ออกรางวัล ทั้งขาย (เช่า) สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในแมกกาซีนตามร้านหนังสือ การเล่าเรื่องผีผ่านคลื่นวิทยุ รายการทีวีที่นำเสนอคนมีจิตสัมผัส และสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือหนังผีไทย ที่ขึ้นชื่อในเรื่องความสยดสยองที่สุด

แล้วทุกท่านล่ะครับ คิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ประเทศเราควรมีนโยบายควบคุมสื่อในการนำเสนอเรื่องงมงายสู่สาธารณะหรือไม่ ?

 

 

Leave Comment